ประวัติสหกรณ์สากล
บิดาสหกรณ์โลก
สหกรณ์ถือกำเนิดขึ้นในยุโรปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมที่ต้องใช้ที่ดินจำนวนมาก การกว้านซื้อที่ดินส่งผล ให้ประชาชนชั้นรากฐานไร้ที่ดินทำกิน ละทิ้งถิ่นฐานเข้าไปขายแรงงานในเมืองหลวง ความยากจนยิ่งโหมกระหน่ำ จากสังคมที่เคยเกื้อกูลดังเช่นในชนบทได้จางหายไปทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด ถึงกระนั้นความพยายามแสวงหาวิธี สร้างสังคมใหม่ควบคู่กันไปกับระบบเศรษฐกิจที่ ยั่งยืนได้ใช้เวลาเนิ่นนานจึงคิดค้นวิธีการได้สำเร็จ เรียกว่า" การสหกรณ์ " และถือว่า โรเบิร์ด โอเวน เป็นบิดาสหกรณ์โลก
สหกรณ์แห่งแรกของโลก
ความลำบากยากแค้นของผู้ใช้แรงงานในโรงงานท่อผ้า ณ เมืองรอชเดล ประเทศอังกฤษ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าเงินเชื่อรวมกับดอกเบี้ยสูง และการจ่ายค่าจ้างเป็นสิ่งของ เป็นแรงผลักดันให้มีการแสวงหาทางรอด ตามวิธีสหกรณ์ คือร้านสหกรณ์ รอชเดล โดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง มีข้อตกลงร่วมกันในหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า กฎ 10 ประการ และกฎนี้เป็นแม่บทของ หลักการสหกรณ์ สหกรณ์นี้จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลก การดำเนินงานของสหกรณ์รอชเดล ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือสมาชิกเฉพาะในด้านเครื่องโภคภัณฑ์เท่านั้น ยังมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพราะเป็นที่เข้าใจกันว่าผู้ใช้แรงงานมีความรู้น้อย การศึกษาจึงมีความจำเป็น โดยได้เปิดสอน ในวิชาการต่าง ๆ แก่สมาชิกในยามว่าง ก็คือ เวลากลางคืน จึงเรียกว่า " โรงเรียนกลางคืน "
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
ความลำบากยากเข็ญที่กระจายอยู่ทั่วไป เยอรมันก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำเนิดสหกรณ์เครดิต (สหกรณ์สินเชื่อ หรือ ธนาคารสหกรณ์) ซึ่งมี 2 ประเภท คือ สหกรณ์ในเมือง มีเฮอร์มัน ชุลซ์ - เดลิทซ์ (Hermanu Schulze - Delitzsch) เป็นผู้ให้กำเนิดสหกรณ์ สำหรับประชาชนผู้ยากจนในเมือง และ สหกรณ์เครดิตในชนบท มีฟรีดริช วิลเฮล์ม ไรฟ์ไฟเซน (Friedrich Wilhelm Raiffisen) เป็นผู้ให้กำเนิด ในการจัดตั้งสหกรณ์สำหรับชาวนา โดยได้ขยายไปทั่วเยอรมนีและสหกรณ์เหล่านี้ได้ร่วมตัวกันก่อตั้ง สถาบันกองทุนกลางในภูมิภาคต่าง ๆในที่สุดได้ก่อตั้งสถาบันกลางระดับชาติ
วันสหกรณ์สากล (International Cooperativees Day)
สหกรณ์ในประเทศต่าง ๆ มีหลายประเภทหลายระดับรวมเป็นขบวนการสหกรณ์ของประเทศนั้น ๆ มีความเจริญก้าวหน้าแตกต่างกันไป มองในภาพรวมเรียกได้ว่าเป็น " ขบวนการสหกรณ์โลก " มีการประชุมสมัชชาสหกรณ์ระหว่างชาติ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีมติก่อตั้งองค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ ระหว่างประเทศ ( องค์การ ICA ) เพื่อประสานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงเจนีวา ประเทศ สวิชเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2538 องค์การ ICA ได้ปรับปรุงและประกาศหลักการเป็น 7 ประการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้องค์การ ICA ได้ประกาศให้สหกรณ์ทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลองวันสหกรณ์สากลตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2465 ต่อมาที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2535 มีมติให้วันเสาร์แรกของเดือนกรกฎาคมทุกปี เป็น " วันสหกรณ์สากล "
ประวัติสหกรณ์ไทย บิดาและสหกรณ์แรกของไทย
สหกรณ์ในประเทศต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าส่งผลดีในการพัฒนาประเทศ สำหรับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2458 นโยบายแห่งรัฐ เห็นสมควรนำวิธีการสหกรณ์ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร พระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกคือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกและทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซน ที่ได้รับความสำเร็จ มาแล้วใน อินเดีย และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งคนไปศึกษาจากประเทศเยอรมนี และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ "
ขบวนการสหกรณ์ไทย
การสหกรณ์ได้แพร่หลายเริ่มตั้งแต่การตราพระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม พ.ศ. 2459 เพื่อทดลอง และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 เป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับแรกที่ส่งเสริมให้สหกรณ์ร่วมกลุ่ม กันก่อตั้งชุมนุมสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ก็ได้เกิดขึ้นโดยการรวม กลุ่มกันของสหกรณ์ท้องถิ่น ได้จดทะเบียนเป็นประเภทชุมชนสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 มีพระบรมราช โองการ ประกาศพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มีผลทำให้สันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ เลิกไป และให้มีการก่อตั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยขึ้นแทนโดยผลแห่งกฎหมายสหกรณ์ฉบับนั้นพระราช บัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบัน กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ และกอง ทุนพัฒนาสหกรณ์ ( อยู่ไต้ พรบ. ปี 2511 อยู่แล้ว )
การจัดรูปองค์การของสหกรณ์
- สหกรณ์ไม่ใช้องค์การของรัฐ เพื่อดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรมทางสังคม - สหกรณ์ไม่ใช้บริษัทเอกชน เพื่อดำเนินธุรกิจแสวงหาผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้น - สหกรณ์ไม่ใช้องค์การของรัฐ ไม่เป็นกระทรวงทะบวง และกรมต่าง ๆ - สหกรณ์ไม่ใช้องค์การ เพื่อสร้างสีสันทางการเมือง ซึ่งไม่ได้มอบบริการที่บริสุทธ์เหมาะสมดั่งที่สมาชิกต้องการ " สหกรณ์ " ตามความหมายขององค์การสัมพันธ์ภาพสหกรณ์ ระหว่างประเทศ คือ องค์การอิสระของบุคคลซึ่งร่วมกัน ด้วย ความสมัครใจ เพื่อสนองความต้องการ และจุดมุ่งหมายร่วมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยการดำเนิน วิสาหกิจที่ พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกันบริหารงาน และควบคุมตามแนวทางประชาธิปไตย
หลักการสหกรณ์ 7 ประการ
1.การเปิดรับสมาชิกทั่วไปและด้วยความสมัครใจ 2.การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง 3.การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก 4.การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ 5.การศึกษา ฝึกอบรม และข่าวสาร 6.การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ 7.ความเอื้ออาทรต่อชุมชน
หน้าที่ของรัฐบาลต่อสหกรณ์
สหกรณ์เป็นองค์การปกครองตนเองโดยไม่ถูกควบคุมและชี้นำโดยรัฐบาล และบทบาทของรัฐบาลที่เกี่ยวกับสหกรณ์ คือ การออกกฎหมาย นโยบาย การจดทะเบียน การอำนวยความสะดวก การให้คำแนะนำและการชำระบัญชี
ความเสมอภาคเท่าเทียมของสมาชิก
สหกรณ์เป็นองค์การที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนองค์การรูปแบบใด เพราะการดำเนินการสหกรณ์จะมีกำไรหรือขาดทุนสมาชิกคือ ผู้รับที่ได้รับการแบ่งปันผลการดำเนินการอย่างเท่าเทียมกัน เพราะว่า สมาชิกเป็นเจ้าของสหกรณ์และเป็นผู้ใช้บริการสหกรณ์ การมารับบริการจากสหกรณ์ของสมาชิกเป็นชัยชนะของสมาชิก นี่คือความแตกต่าง ถ้าสมาชิกผู้ถือหุ้นไม่มาใช้บริการขององค์สหกรณ์ ก็ไม่ใช่สหกรณ์ เพราะการรวมกันเป็นสหกรณ์ คือความต้องการใช้บริการของสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของตน นั่นหมายถึง สมาชิกแต่ละคนเพื่อทุกคนและทุกคนเพื่อแต่ละคน (Each for all and All for each)
ปรัชญาสหกรณ์
การช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ความรับผิดชอบร่วมกัน ยึดหลักประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเป็นธรรม การรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการพึ่งพาอาศัยกัน จริยธรรมสหกรณ์
ความซื่อสัตย์
โปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคม การเอาใจใส่ผู้ด้อยกว่า วัตถุประสงค์ของสหกรณ์
สหกรณ์มีเป้าหมายหลักคือการทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกดีขึ้นและวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ คือการทำให้เป้าหมายของสหกรณ์บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมด้วยวิธีการสหกรณ์
โครงสร้างการบริหารจัดการสหกรณ์
สมาชิกสหกรณ์ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลในกรณีสหกรณ์ชั้นสูง การสมัครเป็นสมาชิกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า และการถือหุ้นในสหกรณ์ รวมทั้งสมาชิกคือผู้กำหนดเงื่อนไข หรือข้อบังคับในการดำเนินงานสหกรณ์ในที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการดำเนินการ ผู้ตรวจสอบกิจการ จัดจ้างผู้สอบบัญชี และหน้าที่อื่นๆ นี่คือการควบคุมดูแลตรวจสอบ ตามหลักประชาธิปไตยและรับผิดชอบ ร่วมกันของบรรดาสมาชิก
องค์ประกอบการบริหารจัดการ
การเลือกตั้งผู้แทนในการบริหารจัดการองค์กร และเป็นสิทธิและความรับผิดชอบของสมาชิก รวมถึงการออกข้อบังคับของสหกรณ์ การมอบหมายนโยบายให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไปดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีหน้าที่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ คือผู้จัดการสหกรณ์เท่านั้น เป็นผู้ทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบ บริหารสหกรณ์ตามนโยบายที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนดก็คือการให้บริการแก่มวลสมาชิกสหกรณ์นั่นเอง
การลงทุนในสหกรณ์
สมาชิกเป็นผู้ออกทุนในสหกรณ์ ด้วยการถือหุ้นเพื่อใช้เงินทุนนั้นในการดำเนินธุรกิจด้วยการจัดหาบริการด้านต่างๆ ให้แก่มวลสมาชิก หากเงินทุนไม่เพียงพอ สามารถ จัดหาเงินทุนด้วยการกู้ยืม การขอรับการอุดหนุนจากแหล่ง ต่างๆ ได้แต่การบริหารจัดการเงินทุนต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างสินทรัพย์ กับ หนี้สินและทุนสหกรณ์เป็นองค์การเศรษฐกิจ จึงต้องมีความสามารถในการบริหารเงินทุนให้มีประสิทธิผล และเป็นไปอย่างเปิดเผย มีการตรวจสอบบัญชี และการตรวจสอบกิจการ ซึ่งสามารถตรวจสอบโดย เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล หรือขบวนการสหกรณ์ โดยจัดจ้างบริษัทเอกชนภายนอกก็ได้
การดำเนินการธุรกิจสหกรณ์
สมาชิกสหกรณ์มีสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และมีความรู้ความเข้าใจในนโยบายแห่งรัฐ กฎหมายต่างๆ รู้วิธีการและ เทคนิคต่างๆ เพราะการบริหารจัดการสหกรณ์ที่ควบคุมโดยสมาชิกนั้น ต้องใช้ความชำนาญการอย่างยิ่งในการบริหาร เงินทุนบุคลากร ทรัพยากร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น